ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก แม้สหรัฐปรับลดประมาณการ GDP

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 29, 2018 07:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ แม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ปรับลดการประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ก็ตาม ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการไร้ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นการแยกตัวของอังกฤษจาก EU (Brexit)

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.62 เยน จากระดับ 110.20 เยน ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9986 ฟรังก์ จากระดับ 0.9969 ฟรังก์

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1555 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1557 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3071 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3129 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7347 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7353 ดอลลาร์สหรัฐ

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ จากการที่นักลงทุนวิตกกังวลกังวลเกี่ยวกับการไร้ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็น Brexit ขณะที่บริษัทหลายแห่งออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะถูกกระทบ หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงในเร็วๆนี้

ส่วนดอลลาร์ยังคงได้รับแรงซื้อส่งเข้าหนุน แม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับการขยายตัวของ GDP ประจำไตรมาส 1 ที่ระดับ 2.0% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.3% และต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.2%

ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ในปีนี้ มีสาเหตุจากการดิ่งลงของการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 5 ปี และการชะลอตัวของสินค้าคงคลัง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 3% ในไตรมาส 2 ขณะที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนฟื้นตัว โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย ขณะที่ตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 222,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ