ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: เงินปอนด์ร่วงเทียบดอลล์ วิกตกเมืองอังกฤษ,อนาคต Brexit

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 10, 2018 07:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ก.ค.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเมืองในอังกฤษ หลังจากรัฐมนตรีคนสำคัญของอังกฤษประกาศลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางความแตกแยกของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในประเด็นการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3256 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3283 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.1748 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1746 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7466 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7430 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.81 เยน จากระดับ 110.68 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9920 ฟรังก์ จากระดับ 0.9900 ฟรังก์

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางการเมืองในอังกฤษ หลังจากนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ และนายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีฝ่ายกิจการ Brexit ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางความแตกแยกของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในประเด็นการแยกตัวออกจาก EU โดยเดวิสกล่าวว่า เขาไม่สามารถสนับสนุนแผนการของนางเมย์ในการดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับ EU ต่อไป หลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกมา พร้อมระบุว่า นางเมย์ยอมอ่อนข้อต่อ EU มากเกินไป และง่ายเกินไป

ข่าวการลาออกของรัฐมนตรีทั้งสองมีขึ้นหลังจากนางเมย์และคณะรัฐมนตรีอังกฤษได้จัดประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบต่อข้อเสนอของนายกฯเมย์ ซึ่งรวมถึงการให้อังกฤษยังคงอยู่ใน "สถานะที่มีส่วนร่วม (collective position)" สำหรับการเจรจากับ EU ในอนาคต และการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างอังกฤษ และ EU

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์ยังคงได้ปัจจัยหนุนจากตัวเลขจ้างงานสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 213,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.0% โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.8%

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค., ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและส่งออกเดือนมิ.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ