ค่าเงินลีราของตุรกียังคงดิ่งลงในวันนี้ โดยล่าสุดทรุดตัวลง 12% เทียบดอลลาร์ หลังจากที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี กล่าวเรียกร้องให้ชาวตุรกีแปลงสกุลเงินดอลลาร์และทองคำให้อยู่ในรูปสกุลเงินลีรา
ลีราดิ่งลง 12% แตะระดับ 6.22 เทียบดอลลาร์ หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนายเออร์โดกัน
นายเออร์โดกันกล่าวว่า ตุรกีกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจ และตุรกีจะตอบโต้ประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่มก่อสงครามดังกล่าว
ผู้นำตุรกียังกล่าวว่า ดอลลาร์จะไม่สามารถสกัดการขยายตัวของตุรกี และเขาเรียกร้องให้ตุรกีเพิ่มการผลิต และการส่งออก
ทางด้านหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานวันนี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราของตุรกีที่จะมีต่อธนาคารยุโรป โดยเฉพาะธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
ทั้งนี้ ลีราได้ทรุดตัวลง 33% เทียบดอลลาร์ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น, การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการที่รัฐบาลตุรกีใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้เข้าแทรกแซงนโยบายการเงินของธนาคารกลาง
นอกจากนี้ ลีราดิ่งลงอย่างหนักในช่วงเช้าวันนี้ หลังการเจรจาซึ่งมีเป้าหมายเพื่อคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองระหว่างตุรกีกับสหรัฐ ประสบภาวะชะงักงัน
ทั้งนี้ ลีราอ่อนค่าลงต่อเนื่องสู่ระดับ 6 ลีราต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากที่ร่วงลงไปกว่า 5% เมื่อคืนนี้
การเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างผู้แทนตุรกีและสหรัฐที่เผชิญทางตันในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ส่งผลให้ลีราทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่เมื่อเทียบกับดอลลาร์
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน