รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องให้กลุ่มผู้ส่งออกโอนกำไรซึ่งอยู่ในรูปดอลลาร์กลับประเทศ และแปลงเป็นสกุลเงินรูเปียห์เพื่อช่วยพยุงค่าเงินที่กำลังทรุดตัวลง
ทั้งนี้ รูเปียห์ดิ่งลงแตะ 14,600 เทียบดอลลาร์ในวันนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับผลกระทบจากวิกฤตค่าเงินลีราของตุรกี
นางศรี มัลยานี รมว.คลังอินโดนีเซีย กล่าวว่า "เราได้พูดคุยกับผู้ส่งออกแล้ว โดยขอร้องให้พวกเขาโอนดอลลาร์กลับประเทศ โดยให้ฝากไว้กับธนาคารในประเทศ และเก็บไว้ในระยะยาวในอินโดนีเซีย"
รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซียหวังว่า การโอนดอลลาร์กลับประเทศจะช่วยเพิ่มปริมาณดอลลาร์ในตลาด และจะช่วยสกัดการอ่อนค่าของรูเปียห์
รูเปียห์ได้อ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนมี.ค.และมิ.ย. ขณะที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค.
นอกจากนี้ รูเปียห์ดิ่งลงรุนแรงขึ้นจากวิกฤตค่าเงินในตุรกี ส่งผลให้รูเปียห์ร่วงลงแตะ 14,600 เทียบดอลลาร์ในวันนี้ จากระดับ 14,437 ในวันเสาร์
ทั้งนี้ วิกฤตการเงินในตุรกีได้สร้างความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้, รูปีของอินเดีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ต่างอ่อนค่าลงอย่างมาก ขณะที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลงเช่นกัน จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราต่อธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน