สกุลเงินปอนด์และยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 ก.ย.) ขานรับความหวังที่ว่า อังกฤษจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการแยกตัวออกจาก EU (Brexit) ภายใน 6-8 สัปดาห์นี้
เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.3028 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2924 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.1596 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1566 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.7110 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7109 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.21 เยน จากระดับ 111.05 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9748 ฟรังก์ จากระดับ 0.9687 ฟรังก์ อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3157 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.3172 ดอลลาร์สหรัฐ
เงินปอนด์และยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากนายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนเจรจาของฝ่าย EU ในประเด็น Brexit กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่ EU จะบรรลุข้อตกลง Brexit กับอังกฤษภายในเวลา 6-8 สัปดาห์นี้
"ผมคิดว่าถ้าเรามองในแง่ความเป็นจริง เราจะสามารถบรรลุข้อตกลงในขั้นแรกของการเจรจาสนธิสัญญา Brexit ภายในเวลา 6-8 สัปดาห์ และเมื่อพิจารณาเงื่อนไขของเวลาสำหรับกระบวนการให้สัตยาบันในสภาสามัญชนของอังกฤษ รวมทั้งในรัฐสภายุโรป และคณะมนตรียุโรป เราจะต้องทำข้อตกลงก่อนเริ่มเดือนพ.ย. ซึ่งผมคิดว่าเป็นไปได้" นายบาร์นิเยร์กล่าว
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า EU เปิดกว้างต่อแนวทางอื่นๆในการแก้ไขปัญหาชายแดนของไอร์แลนด์ นอกเหนือจากข้อเสนอของ EU โดยประเด็นชายแดนไอร์แลนด์กับไอร์แลนด์เหนือถือเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางมากที่สุดในการเจรจาข้อตกลง Brexit ระหว่างอังกฤษและ EU
นักลงทุนมองว่าถ้อยแถลงของนายบาร์นิเยร์เป็นการส่งสัญญาณท่าทีที่ผ่อนคลายของ EU ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงก่อนถึงกำหนดเส้นตายการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU อย่างเป็นทางการในช่วงสิ้นเดือนมึ.ค.ปีหน้า
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค., ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน