ดอลลาร์ขยับขึ้นอยู่ในกรอบ 112 เยน หลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ ขณะที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการดิ่งลงของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่ธนาคารกลางตุรกีประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวานนี้
ณ เวลา 22.15 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.17% สู่ระดับ 112.11 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.10% สู่ระดับ 130.68 เยน และร่วงลง 0.26% สู่ระดับ 1.1658 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.28% สู่ระดับ 94.78
ทั้งนี้ ธนาคารกลางตุรกีประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6.25% เมื่อวานนี้ สู่ระดับ 24% จากเดิมที่ระดับ 17.75% เพื่อหนุนค่าเงินลีรา ซึ่งได้ทรุดตัวลงราว 40% เทียบดอลลาร์นับตั้งแต่ต้นปีนี้
อย่างไรก็ดี ช่วงบวกของดอลลาร์ถูกจำกัด หลังจากที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่ควรใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษนานเกินไป
นักลงทุนจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% หลังจากพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนก.ค.
การชะลอตัวของยอดค้าปลีกในเดือนส.ค.ได้รับผลกระทบจากการลดลงของยอดขายรถยนต์และเสื้อผ้า
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคานำเข้าร่วงลง 0.6% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนก.ค.
การร่วงลงของดัชนีราคานำเข้าได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งได้พุ่งขึ้นมากกว่า 6% ในปีนี้ และได้ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานลดลง
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาส่งออกลดลง 0.1% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนก.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 3.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนก.ค.
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นการวัดการปรับตัวของภาคการผลิต, เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค
ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนส.ค. ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคดีดตัวขึ้น 1.2% และภาคเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น 0.7%
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 78.1% ในเดือนส.ค. จากระดับ 77.9 ในเดือนก.ค.