ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐ พร้อมส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.42 เยน จากระดับ 112.83 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9775 ฟรังก์ จากระดับ 0.9650 ฟรังก์ นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนดา ที่ระดับ 1.3039 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3002 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1658 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1762 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3087 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3184 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7210 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7276 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ปีนี้ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า
แถลงการณ์การประชุมครั้งนี้ เฟดได้แสดงมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ โดยระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่การใช้จ่ายในภาคครัวเรือน และการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ของภาคธุรกิจได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เฟดได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 3.1% จากเดิมที่ 2.8% และปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปีหน้าสู่ระดับ 2.5% จากเดิมที่ 2.4%
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า GDP ประจำไตรมาส 2 ของสหรัฐขยายตัวที่ระดับ 4.2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี หลังจากขยายตัวเพียง 2.2% ในไตรมาสแรก
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 4.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งสุดในรอบ 6 เดือน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบินพาณิชย์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว เพิ่มขึ้น 12,000 ราย สู่ระดับ 214,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนส.ค. อันเนื่องมาจากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน