ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์อ่อนเทียบเยน หลังทำนิวไฮ 11 เดือนตามการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 5, 2018 07:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 ต.ค.) หลังดีดตัวแตะระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือนในช่วงแรก ขานรับการทะยานขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.86 เยน จากระดับ 114.33 เยน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9915 ฟรังก์ จากระดับ 0.9898 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2923 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2841 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1513 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1517 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3023 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2975 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7074 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7120 ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.178% หลังจากแตะระดับ 3.232% ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2554 ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.341% หลังจากแตะระดับ 3.375% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่หนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ รวมถึงจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 8,000 ราย สู่ระดับ 207,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2512 และยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.3% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1% นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาตัวเลขเฉลี่ยค่าจ้างรายชั่วโมงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวจะเป็นตัวบ่งชี้เงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ