ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday October 6, 2018 07:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 ต.ค.) หลังจากทางการสหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าเดือนส.ค.พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย.ของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 113.73 เยน จากระดับ 113.86 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9913 ฟรังก์ จากระดับ 0.9915 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2938 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2923 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ที่ระดับ 1.1525 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1513 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.3109 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3023 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง แตะที่ระดับ 0.7051 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7074 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.4% สู่ระดับ 5.32 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน และเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 หลังจากอยู่ที่ระดับ 5.0 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.ค.

สหรัฐขาดดุลการค้าต่อจีน 2.611 แสนล้านดอลลาร์หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ขาดดุลการค้า 3.86 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค.

กระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเผยว่า การส่งออกลดลง 0.8% สู่ระดับ 2.094 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนส.ค. ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 2.627 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนก.ย. โดยเพิ่มขึ้นเพียง 134,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง โดยกระทรวงฯระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ซึ่งได้พัดถล่มรัฐนอร์ธและเซาธ์แคโรไลนาในเดือนก.ย. เป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขการจ้างงานลดลงในบางภาคอุตสาหกรรม

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2512 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.8%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 8 เซนต์ หรือ 0.3% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% เช่นเดียวกันในเดือนส.ค. และเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ