สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทของไทยมีแนวโน้มติดอันดับสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่ปรับตัวดีที่สุดในปีนี้ ในบรรดาสกุลเงินจำนวน 22 สกุลที่ทางบลูมเบิร์กได้ติดตามความเคลื่อนไหว
บลูมเบิร์กระบุว่า มีเหตุผลหลายประการที่ช่วยหนุนค่าเงินบาทให้หักล้างปัจจัยลบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน โดยปัจจัยบวกที่หนุนค่าเงินบาท ได้แก่
- คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ และสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายในอนาคต
- ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกเดือนนับตั้งแต่สิ้นเดือนก.ย.2557 โดยการที่ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 3 คิดเป็นสัดส่วน 7.7% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถือว่าอยู่ในกลุ่มสูงสุดในเอเชีย
- ไทยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกเดือนในปีที่แล้วและปีนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนอุปสงค์ต่อสกุลเงินบาท และแม้การส่งออกชะลอตัวลง แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- ไทยมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงถึง 2.03 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าจากระดับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่ามีความเพียงพอ
- นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มเป็นผู้ซื้อสุทธิพันธบัตรของไทยเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรคิดเป็นวงเงิน 9.2 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 11 ธ.ค.
- เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางเงินเฟ้อในระดับต่ำ โดยกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัว 4.5% ในปีนี้ จากระดับ 3.9% ในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 0.94% ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าระดับ 1% ที่กระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามีความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจ
นายจิตติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า มีประเทศไม่มากนักเหมือนประเทศไทยที่เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และเขาคาดการณ์ว่า บาทจะแข็งค่าสู่ระดับ 30.7 เทียบดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีหน้า