ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบค่าเงินหลัก หลังดัชนีภาคบริการสหรัฐซบเซา,เฟดส่งสัญญาณชะลอขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 8, 2019 07:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 ม.ค.) หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคบริการสหรัฐขยายตัวต่ำกว่าคาดในเดือนธ.ค. นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9794 ฟรังก์ จากระดับ 0.9864 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3296 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3394 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.60 เยน จากระดับ 108.52 เยน

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1478 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1398 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2769 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2740 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7142 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7116 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจาก นายพาวเวลกล่าวในการเสวนาในวันศุกร์ที่ผ่านมา ร่วมกับ 2 อดีตประธานเฟด คือ นางเจเน็ต เยลเลน และนายเบน เบอร์นันเก้ ในการประชุมประจำปีของสมาคมเศรษฐกิจอเมริกันที่รัฐแอตแลนตา โดยนายพาวเวลกล่าวว่า เฟดจะใช้ความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน นายพาวเวลยังระบุว่า เฟดจะไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงแผนการปรับลดงบดุล ถ้าหากว่าการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันหลังจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 57.6 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับตำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 59.0 หลังจากแตะระดับ 60.7 ในเดือนพ.ย.

ส่วนสกุลเงินดอลลาร์ของออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ดีดตัวขึ้นขานรับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดุลการค้าเดือนพ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนพ.ย., ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ย. และอัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ