ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) ก่อนที่การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มี.ค.นี้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.40 เยน จากระดับ 111.49 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0010 ฟรังก์ จากระดับ 1.0022 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3351 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3345 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1337 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1320 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3251 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3285 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7099 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7085 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงก่อนที่การประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะมีขึ้นในวันที่ 19-20 มี.ค. ขณะที่ตลาดการเงินคาดการณ์กันว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในการประชุมปีที่แล้ว
ทั้งนี้ CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้
ส่วนเงินปอนด์ร่วงลงหลังจากนายจอห์น เบอร์คาว ประธานรัฐสภาอังกฤษ ได้ออกมาเตือนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มิให้นำข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่มีเนื้อหาไม่แตกต่างจาก 2 ฉบับแรก เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านทรงตัวที่ระดับ 62 ในเดือนมี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งการลดลงของอัตราว่างงาน และการขยายตัวของการจ้างงานที่แข็งแกร่ง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือนมี.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.พ. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.