สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 เม.ย.) หลังจากมีรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.ของยูโรโซนหดตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1198 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1211 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3114 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3125 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7063 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7112 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.38 เยน จากระดับ 111.36 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3346 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3310 ดอลลาร์แคนาดา อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9984 ฟรังก์ จากระดับ 0.9989 ฟรังก์
ค่าเงินยูโรร่วงลงหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 6 ปี และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2556 จากระดับ 49.3 ในเดือนก.พ.
ดัชนี PMI ยูโรซนถูกกดดันจากการทรุดตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่การจ้างงานชะลอตัว และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า กิจกรรมในภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เป็นกลุ่มประเทศที่ภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัวในเดือนมี.ค.
ส่วนเงินปอนด์ยังคงได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ที่อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยรายงานล่าสุดระบุว่า นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เตรียมเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ให้เวลาแก่อังกฤษมากขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีเวลาในการเจรจากับพรรคแรงงานเพื่อผ่าทางตันกรณี Brexit
ทั้งนี้ นางเมย์คาดหวังว่า รัฐสภาอังกฤษจะลงมติรับรองข้อตกลง Brexit ภายในวันที่ 22 พ.ค. พร้อมกับเสริมว่าการแยกตัวจาก EU โดยมีข้อตกลงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ลดลง 1.6% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค. โดยการร่วงลงของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนก.พ. ได้รับผลกระทบจากการทรุดตัวของคำสั่งซื้อเครื่องบิน
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมี.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค.