ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ พร้อมกับปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐและยูโรโซนในปีนี้เช่นกัน
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.11 เยน จากระดับ 111.51 เยน แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9995 ฟรังก์ จากระดับ 0.9990 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3322 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3311 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1266 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1261 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3042 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3066 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.7125 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7126 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจาก IMF ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่ระดับ 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า รวมทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐในปีนี้ ที่ระดับ 2.3% และคาดว่ายูโรโซนมีการขยายตัว 1.3% โดยลดลง 0.2% และ 0.3% ตามลำดับจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค.
รายงานของ IMF ระบุว่า "ดุลความเสี่ยงยังคงอยู่ในช่วงขาลง และการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจะทำให้มีการดีดตัวขึ้นของต้นทุนของสินค้านำเข้าขั้นกลาง, สินค้าทุน และราคาสินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้า และความกังวลเกี่ยวกับการตอบโต้ทางการค้า จะทำให้การลงทุนลดลง, ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตชะลอตัวลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชนลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน และฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" IMF ระบุ
นอกจากนี้ IMF ยังเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง, ความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกจัดการเลือกตั้ง และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออก
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ร่วงลง 538,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 7.1 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค.,ราคานำเข้าและส่งออกเดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน