ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์แข็งเทียบสกุลเงินหลัก รับเฟดส่งสัญญาณยังไม่ลดดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 3, 2019 07:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 พ.ค.) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวานนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0193 ฟรังก์ จากระดับ 1.0181 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3470 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3450 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.49 เยน จากระดับ 111.59 เยน

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1175 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1194 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3027 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3044 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6997 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7011 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นหลังจากนายพาวเวลได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมเฟดซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า แรงกดดันด้านราคาที่ปรับตัวลงเมื่อเร็วๆนี้ อาจเกิดจาก "ปัจจัยชั่วคราว" และคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในอนาคต โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวนับเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามกดดันให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ตาม

เงินปอนด์อ่อนค่าลงหลังจาก BoE มีมติเอกฉันท์ 9-0 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า BoE จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐในคืนนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. หลังจากพุ่งขึ้น 196,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8%

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในคืนนี้ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนเม.ย.จากมาร์กิต และดัชนีบริการเดือนเม.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ