ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตราเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9907 ฟรังก์ จากระดับ 0.9923 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3395 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3437 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.05 เยน จากระดับ 108.03 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1259 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1257 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2704 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2665 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6997 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6977 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากนายพาวเวลกล่าวว่า เครื่องมือที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ ซึ่งได้แก่ การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) นั้น มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
"บางทีถึงเวลาแล้วที่เฟดจะยุติการใช้คำว่า "แบบไม่ปกติ" เมื่อเราระบุถึงเครื่องมือที่มีการใช้ในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ เรารู้ว่าเครื่องมือเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความจำเป็นในอนาคต ซึ่งเราหวังว่าคงจะใช้ไม่บ่อยนัก" นายพาวเวลกล่าว
นักลงทุนมองว่า ถ้อยแถลงของนายพาวเวลอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และยังสอดคล้องกับที่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟด สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ และเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง อันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐลดลง 0.8% ในเดือนเม.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.9% โดยการร่วงลงของคำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของคำสั่งซื้อเครื่องบิน, รถยนต์, คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเลคทรอนิคส์
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเม.ย., ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 1/2562, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนเม.ย.