ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (10 มิ.ย.) ขานรับข่าวที่ว่า สหรัฐระงับการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก หลังจากทั้งสองประเทศได้บรรลุข้อตกลงในประเด็นผู้อพยพ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.42 เยน จากระดับ 108.16 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9895 ฟรังก์ จากระดับ 0.9868 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3270 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3271 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1315 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1337 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2689 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2739 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6957 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7003 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยหนุนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกจะถูกระงับต่อไปโดยไม่มีกำหนด พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นว่า เม็กซิโกจะดำเนินการกวาดล้างต่อผู้อพยพผิดกฎหมายจากอเมริกากลาง
ทางด้านนายมาร์เซโล เอบราร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก เปิดเผยว่า รัฐบาลเม็กซิโกจะส่งทหาร 6,000 นายเข้าไปประจำการในพื้นที่ชายแดนตอนใต้ซึ่งอยู่ติดกับกัวเตมาลา เพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวล หลังจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้าทั้งหมดที่นำเข้าจากเม็กซิโก ในอัตรา 5% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย. และจะเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนแตะระดับ 25% ในวันที่ 1 ต.ค. ถ้าเม็กซิโกไม่สามารถสกัดการหลั่งไหลของผู้อพยพผิดกฎหมายที่ข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐ
นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 18-19 มิ.ย.นี้ ขณะที่ FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 79% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และโอกาสมากกว่า 80% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ค., อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนพ.ค., ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.