ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 มิ.ย.) ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.50 เยน จากระดับ 108.49 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9956 ฟรังก์ จากระดับ 0.9918 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3332 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3286 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1286 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1332 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2687 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2722 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6926 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6959 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 18-19 มิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
อย่างไรก็ดี FedWatch ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์อัตราดอกเบี้ยสหรัฐของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาส 79% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในเดือนก.ค. และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. และมีโอกาส 97% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธ.ค.
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. โดยดัชนี CPI เดือนพ.ค.ได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของราคาอาหาร แต่ถูกกดดันจากการร่วงลงของราคาน้ำมัน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือนพ.ค. ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.9% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนเม.ย.
หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนี CPI พื้นฐานขยับขึ้น 0.1% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เมื่อเทียบรายเดือน สำหรับเทียบรายปี ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 2.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนเม.ย.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ราคานำเข้าและราคาส่งออกเดือนพ.ค., ยอดค้าปลีกเดือนพ.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนเม.ย. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนมิ.ย.