ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์อ่อนเทียบสกุลเงินหลัก วิตกศก.โลกชะลอตัว,ข่าวสหรัฐขู่รีดภาษี EU

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 3, 2019 07:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวสหรัฐขู่เพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากภาคการผลิตทั่วโลกชะลอตัวลง ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดย ADP จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.ของสหรัฐในวันนี้ และกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.ในวันศุกร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.84 เยน จากระดับ 108.46 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9859 ฟรังก์ จากระดับ 0.9875 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3110 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3140 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1290 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1285 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2602 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2637 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6987 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6957 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาทการค้าอีกครั้ง หลังจากสหรัฐได้หันมาเปิดศึกการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยการขู่ว่าจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจาก EU วงเงิน 4 พันล้านดอลลาร์ แม้ว่าสหรัฐเพิ่งเจรจาสงบศึกการค้ากับจีนเมื่อเร็วๆนี้ก็ตาม

ทั้งนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้เสนอให้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU จำนวน 89 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรายการสินค้าดังกล่าวครอบคลุมถึง ชีส นม กาแฟ วิสกี้ ผลิตภัณฑ์เนื้อหมู และผลิตภัณฑ์โลหะบางชนิด เช่นทองแดง โดย USTR จะจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนหน้าเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวต่อ EU

นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังจากดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกชะลอตัวลง โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 51.7 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 52.1 ในเดือนพ.ค.

ขณะที่เอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.6 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 47.7 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ