ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานยอดค้าปลีกที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้ง 12 ภาคในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.34 เยน จากระดับ 107.89 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9886 ฟรังก์ จากระดับ 0.9849 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3068 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3046 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1205 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1259 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2406 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2518 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7013 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7037 ดอลลาร์
ดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% จากระดับ 0.4% ในเดือนพ.ค. และหากเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนมิ.ย. โดยการดีดตัวขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนมิ.ย.ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองการคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 1.6% ในไตรมาส 2 หลังการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเมื่อวานนี้
ทั้งนี้ ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าว สูงกว่าระดับ 1.4% ที่เฟดคาดการณ์ในวันที่ 10 ก.ค. แต่ต่ำกว่าระดับ 3.1% ในไตรมาสแรก
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทั้ง 12 ภาคในวันนี้ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีการผลิตเดือนก.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิ.ย.จาก Conference Board และ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน