ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์ในวันนี้ หลังจากที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายฉบับใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐเป็นเวลา 2 ปี และหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ครั้งใหม่
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยบวกจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ แม้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
ณ เวลา 22.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์บวก 0.44% สู่ระดับ 97.68 หลังจากแตะระดับ 97.71 ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความระบุว่า รัฐบาลและแกนนำในสภาคองเกรสสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมงบประมาณเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะรวมถึงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ เพื่อให้สหรัฐไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้
"ผมมีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า มิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเควิน แมคคาร์ธี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องงบประมาณและเพดานหนี้ระยะเวลา 2 ปี" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.2% จากเดิมที่ระดับ 3.3% ซึ่งมีการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. และต่ำกว่าระดับ 3.5% ซึ่งมีการคาดการณ์ในเดือนม.ค.
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.5% ในปีหน้า แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ระดับ 3.6%
ทั้งนี้ IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า และความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) "ความเสี่ยงยังคงมีแนวโน้มในช่วงขาลง ซึ่งรวมถึงความตึงเครียดทางการค้า และเทคโนโลยี ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่น และทำให้การลงทุนชะลอตัว" IMF ระบุ
ขณะเดียวกัน IMF ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐในปีนี้สู่ระดับ 2.6% จากเดิมที่ระดับ 2.3% โดยระบุถึงการขยายตัวที่ดีกว่าคาดในไตรมาสแรก และคาดว่าจะขยายตัว 1.9% ในปีหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนเม.ย.
IMF ยังคาดว่ายูโรโซนมีการขยายตัว 1.3% ในปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิม และคาดว่าจะขยายตัว 1.6% ในปีหน้า เพิ่มขึ้น 0.1% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้
IMF คาดการณ์การขยายตัวของญี่ปุ่นในปีนี้ ที่ระดับ 0.9% โดยลดลง 0.1% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 0.4% ในปีหน้า ลดลง 0.1% จากคาดการณ์ก่อนหน้านี้
IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีนในปีนี้ สู่ระดับ 6.2% จากเดิมที่ระดับ 6.3% และคาดว่าจะขยายตัว 6.0% ในปีหน้า ลดลงจากเดิมที่ระดับ 6.1%
นอกจากนี้ IMF ยังเปิดเผยว่า การขยายตัวของปริมาณการค้าภาคสินค้าและบริการทั่วโลกจะอยู่ที่ระดับ 2.5% และ 3.7% ในปีนี้ และปีหน้าตามลำดับ โดยลดลง 0.9% และ 0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้