เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (7 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการที่อังกฤษอาจแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีข้อตกลงในช่วงปลายเดือนต.ค.นี้ ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ อันเนื่องมาจากความวิตกเกี่ยวกับการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2143 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2152 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1214 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1200 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6767 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6756 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.09 เยน จากระดับ 106.53 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9736 ฟรังก์ จากระดับ 0.9768 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3314 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3279 ดอลลาร์แคนาดา
เงินปอนด์ได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า อังกฤษอาจแยกตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลงในวันที่ 31 ต.ค.
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาจะทำข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่กับสหภาพยุโรป (EU)ซึ่งหาก EU ปฏิเสธที่จะทำการเจรจา เขาก็จะนำอังกฤษแยกตัวจาก EU ในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีการทำข้อตกลง
ทางด้านนายมาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตือนว่า สถานการณ์ Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง จะนำไปสู่การอ่อนค่าของปอนด์ และภาวะผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งแม้ภาคธุรกิจสามารถเตรียมรับมือกรณี Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง แต่การเตรียมพร้อมดังกล่าวก็ไม่สามารถขจัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่อังกฤษต้องทำความสัมพันธ์ทางการค้าครั้งใหม่กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะไม่ราบรื่นที่จะเกิดจาก Brexit ที่ไม่มีการทำข้อตกลง
ส่วนค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 10% คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการปล่อยให้หยวนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี และได้สั่งให้บริษัทของรัฐระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมิ.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.