ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินบางสกุล ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ส.ค.) หลังจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงหลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.78 เยน จากระดับ 106.19 เยน แต่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9809 ฟรังก์ จากระดับ 0.9796 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3287 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3262 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1092 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1097 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2295 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2218 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6756 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6774 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ได้รับแรงกดดันหลังจากตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve เมื่อคืนนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เมื่อเวลา 21.23 น.ตามเวลาไทยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 1.549% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 1.513% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปี อยู่ที่ระดับ 1.987% ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค.ปีนี้ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 2.00%
ดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงเนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 135.1 ในเดือนส.ค. จากระดับ 135.8 ในเดือนก.ค. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 129.5
ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว แต่ชะลอตัวจากที่เพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนพ.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค., การใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน