เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่า มีแนวโน้มลดน้อยลงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง ขณะที่สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากมีกระแสคาดการณ์ว่า รัฐบาลเยอรมนีจะออกมาตรการกระตุ้นด้านการคลัง
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1052 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1028 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2345 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2292 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6862 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6847 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.15 เยน จากระดับ 106.89 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9917 ฟรังก์ จากระดับ 0.9880 ฟรังก์ อย่างไรก็ดี ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3163 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3174 ดอลลาร์แคนาดา
เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นหลังจากรัฐสภาอังกฤษให้การอนุมัติร่างกฎหมายป้องกันการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง หรือ "no-deal Brexit" ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ต้องเข้าเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อให้มีการขยายกำหนดเส้นตายในการแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU เป็นวันที่ 31 ม.ค.2563 จากเดิมวันที่ 31 ต.ค. หากนายจอห์นสันไม่สามารถยื่นข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และได้รับการอนุมัติภายในวันที่ 19 ต.ค.
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประสบความพ่ายแพ้ในรัฐสภาวันนี้ หลังจากที่สมาชิกสภาสามัญชน หรือสภาล่างของอังกฤษ ลงมติด้วยคะแนนเสียงเพียง 293 เสียงเห็นชอบต่อญัตติของนายจอห์นสันในการประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ขณะที่ 46 เสียงไม่เห็นชอบ ส่วนสมาชิกพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน พร้อมใจกันงดออกเสียง
ทั้งนี้ คะแนนเสียงเห็นชอบต่อญัตติดังกล่าวยังคงต่ำกว่า 434 เสียง หรือ 2 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกในสภาล่างทั้งหมด 650 เสียง ส่งผลให้ญัตติของนายจอห์นสันตกไป
นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 17-18 ก.ย.นี้ และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และ ECB มีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นด้านการเงินครั้งใหม่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนส.ค.จากสหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค., ยอดค้าปลีกเดือนส.ค., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนส.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค.