สกุลเงินบาทปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 30.17 บาท/ดอลลาร์ ทำสถิติแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 6 ปีนับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2556 ส่งผลให้บาทดีดตัวขึ้น 7.8% ในปีนี้ มากกว่าสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ยกเว้นสกุลรูเบิลของรัสเซีย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผลการสำรวจนักวิเคราะห์ 24 รายพบว่า บาทจะอ่อนค่าลงแตะ 30.8 บาท/ดอลลาร์ในปลายปีนี้ ก่อนที่จะแตะระดับ 31.0 ในปีหน้า
อย่างไรก็ดี มอร์แกน สแตนลีย์เป็นบริษัทแห่งเดียวที่คาดการณ์ว่า บาทจะแข็งค่าแตะระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้
จากการคำนวณค่าเงินที่แท้จริงตามกลไกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งพิจารณารวมถึงกระแสปริมาณการค้าของไทย พบว่า ขณะนี้บาทมีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริง โดยแข็งค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า มีสาเหตุหลายประการที่ดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามายังประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ และส่งผลให้บาทแข็งค่าขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของไทย ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่า ไทยจะมีตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้ ซึ่งสูงเกือบ 2 เท่าของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ไทยยังมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศสูงถึง 2.20 แสนล้านดอลลาร์ เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 12 เดือน และมีอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ เพียง 0.3%
ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทยังได้ปัจจัยบวกจากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายทองคำ ซึ่งได้พุ่งขึ้น 17% ในปีนี้
อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของบาทได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทย ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามหามาตรการในการชะลอการแข็งค่าของบาท ด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการควบคุมกระแสเงินทุนไหลออก ขณะที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เพื่อลดตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมทั้งออกมาตรการสกัดการไหลเข้าของกระแสเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ธปท.ไม่ต้องการทำการแทรกแซงค่าเงินบาทโดยตรงในตลาดปริวรรตเงินตรา เนื่องจากกังวลว่าจะถูกสหรัฐระบุว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน