ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (30 ต.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นปัจจัยที่กดดันสกุลเงินดอลลาร์เช่นกัน
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9904 ฟรังก์ จากระดับ 0.9937 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 108.94 เยน จากระดับ 108.81 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3174 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3088 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1124 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1110 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2887 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2861 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6876 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6865 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติ 8-2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ดี เฟดส่งสัญญาณพักวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ โดยแถลงการณ์จากการประชุมครั้งนี้ เฟดได้ถอดประโยคสำคัญออก ซึ่งระบุว่า "เฟดจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" โดยประโยคดังกล่าวได้ปรากฎในแถลงการณ์เฟดนับตั้งแต่การประชุมในเดือนมิ.ย.
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การที่คณะกรรมการเฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐให้แข็งแกร่งและสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2562 ที่ระดับ 1.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.6% อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 2.0% และ 3.1% ในไตรมาสแรก
ขณะที่ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 125,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 100,000 ตำแหน่ง
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนก.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนต.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนต.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนต.ค.