ดอลลาร์ดีดตัวรับตัวเลขจ้างงานสหรัฐ ขณะยูโรดิ่ง หลังเผยภาคการผลิตเยอรมนีซบเซา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 7, 2020 21:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นเกินคาดของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ขณะที่ยูโรดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตที่ซบเซาของเยอรมนี

ณ เวลา 21.31 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์อ่อนค่า 0.30% สู่ระดับ 109.65 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.52% สู่ระดับ 120.14 เยน และร่วงลง 0.20% สู่ระดับ 1.0959 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.06% สู่ระดับ 98.56

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 225,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 158,000 ตำแหน่ง

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรได้ปัจจัยหนุนจากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มการจ้างงานในภาคก่อสร้าง สันทนาการ และธุรกิจการให้บริการ

ส่วนอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในเดือนม.ค. จากระดับ 3.5% ในเดือนธ.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีทรุดตัวลง 3.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 และบ่งชี้ถึงภาวะอ่อนแอของภาคการผลิต ซึ่งอาจฉุดให้เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีจะปรับตัวลงเพียง 0.2% ในเดือนธ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายปี การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีดิ่งลง 6.8% ในเดือนธ.ค.

การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีได้รับผลกระทบจากความอ่อนแอของอุปสงค์จากต่างประเทศ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) หลังจากที่อังกฤษแยกตัวจาก EU (Brexit)

ส่วนเมื่อวานนี้ สำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อภาคการผลิตลดลง 2.1% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว และเป็นการส่งสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมเยอรมนียังคงเผชิญภาวะซบเซา

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ยอดสั่งซื้อจะเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนธ.ค. หลังจากที่ลดลง 0.8% ในเดือนพ.ย.

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคการผลิตดิ่งลง 8.7% ในเดือนธ.ค.

รายงานระบุว่า ยอดสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.4% ขณะที่คำสั่งซื้อจากยูโรโซนร่วงลง 13.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ