ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2562 และยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค.
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.12 เยน จากระดับ 110.75 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9761 ฟรังก์ จากระดับ 0.9796 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3271 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3289 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0879 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0842 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3000 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2913 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6600 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6598 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่า มีโอกาสราว 85% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่โอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 50%
อย่างไรก็ดี นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ไม่เห็นด้วยกับความเห็นที่ว่า เฟดจะถูกผลักดันให้ดำเนินการเพื่อรับมือกับตลาดการเงินที่ตื่นตระหนก โดยเธอเตือนว่า ผู้กำหนดนโยบายการเงินจะต้องไม่มีปฏิกริยามากเกินไปต่อความผันผวนระยะสั้นในตลาดการเงิน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.8% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนพ.ย.
ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 130.7 ในเดือนก.พ. จากระดับ 130.4 ในเดือนม.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 132.6
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนม.ค., ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4 (ประมาณการครั้งที่ 2), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนม.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน