ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (27 ก.พ.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึง จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.95 เยน จากระดับ 110.22 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9699 ฟรังก์ จากระดับ 0.9754 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3365 ดอลลาร์แคนดา จากระดับ 1.3318 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0986 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0898 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2892 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2912 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6584 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6556 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 8,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 212,000 ราย
ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 750 ราย สู่ระดับ 209,750 รายในสัปดาห์ที่แล้ว
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2562 ที่ระดับ 2.1% สอดคล้องกับตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของมูลค่าการนำเข้า อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของผู้บริโภค, การลงทุนในภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายของรัฐบาลได้ชะลอตัวในไตรมาส 4/2562
นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในปี 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ในปี 2561 และ 2.4% ในปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกในการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่เขาตั้งเป้าการขยายตัวรายปีของเศรษฐกิจสหรัฐที่ระดับ 3% ในช่วงการดำรงตำแหน่งของเขา
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนม.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน