ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มี.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินลง 0.50% เมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.พ.
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.23 เยน จากระดับ 107.84 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9570 ฟรังก์ จากระดับ 0.9572 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3373 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3353 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1175 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1161 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2811 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2776 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6595 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6531 ดอลลาร์สหรัฐ
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เมื่อวานนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเมื่อวานนี้ มีขึ้นก่อนการประชุมตามปกติของเฟดที่มีกำหนดในวันที่ 17-18 มี.ค. และถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนอกรอบการประชุมของเฟดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551
ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวในการแถลงข่าววานนี้ว่า เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน หลังจากที่เฟดมองเห็นว่าโคโรนาไวรัสกำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนก.พ.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนก.พ.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 4/2562, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนม.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ., ยอดนำเข้า,ส่งออก และดุลการค้าเดือนม.ค. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค.