ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ปอนด์ร่วงเทียบดอลล์ หลังแบงก์ชาติอังกฤษหั่นดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 12, 2020 07:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% เมื่อวานนี้ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบางสกุล หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

เงินปอนด์ร่วงลงแตะที่ระดับ 1.2837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2912 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1279 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1292 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6497 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6486 ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3772 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3738 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.60 เยน จากระดับ 105.13 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9383 ฟรังก์ จากระดับ 0.9387 ฟรังก์

เงินปอนด์ร่วงลงหลังจาก BoE ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% สู่ระดับ 0.25% เมื่อวานนี้ จากเดิมที่ระดับ 0.75% โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินของ BoE มีขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ดอลลาร์แข็งค่าปานกลางเมื่อเทียบเงินบางสกุล หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือนม.ค. โดยดัชนี CPI ทั่วไปได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร แม้ว่าราคาพลังงานร่วงลง

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% เช่นกันในเดือนม.ค. โดยดัชนี CPI พื้นฐานได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวของราคาเสื้อผ้า, ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาสุขภาพ และราคารถยนต์มือสอง

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ., ราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้ ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดมีแนวโน้ม 55.7% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมครั้งนี้ จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% และมีแนวโน้ม 44.3% ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 0.25-0.50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ