ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (25 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมีรายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในสหรัฐพุ่งขึ้นทะลุระดับ 60,000 รายแล้ว
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.36 เยน จากระดับ 111.46 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9779 ฟรังก์ จากระดับ 0.9831 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4204 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4492 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0867 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0757 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1870 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1748 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.5960 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.5912 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันหลังจากข้อมูลล่าสุดของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ระบุว่า ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับ 62,068 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 869 ราย
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้บดบังปัจจัยบวกจากข่าวทำเนียบขาวและแกนนำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภาสามารถบรรลุข้อตกลงในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวซึ่งวงเงินสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์นี้ ครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินกู้วงเงิน 3.67 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก และสนับสนุนโครงการที่จะจัดสรรเงินให้แก่กระทวงการคลังในวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์
ภายใต้มาตรการดังกล่าวนี้ ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่จะได้รับเงินสดโดยตรงคนละ 1,200 ดอลลาร์ ขณะที่เด็กจะได้รับเช็คเงินสดคนละ 500 ดอลลาร์ ส่วนโรงพยาบาลต่างๆจะได้รับการจัดสรรเงินรวม 1.50 แสนล้านดอลลาร์ และธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินรวม 3.67 แสนล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนม.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2562, กำไรภาคเอกชนไตรมาส 4/2562, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.พ. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน