ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 เม.ย.) ขณะที่นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรอดูรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9712 ฟรังก์ จากระดับ 0.9690 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4039 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3992 ดอลลาร์แคนาดา แต่หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 108.81 เยน จากระดับ 108.86 เยน
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0861 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0902 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2392 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2338 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6235 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6195 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์โควิด-19 โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,504,971 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 87,984 ราย
อย่างไรก็ดี นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ คาดการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะพลิกผันดีขึ้น หลังผ่านพ้นสัปดาห์นี้ โดยนายแพทย์ฟอซีระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจล่าสุดนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนมี.ค. โดยระบุว่า กรรมการเฟดทุกคนได้แสดงความกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะใกล้นี้ และจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก
"กรรมการเฟดทุกคนคาดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้ และเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง ขณะเดียวกันกรรมการเฟดมองว่า ระยะเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งนั้น จะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการใช้มาตรการและนโยบายต่างๆในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงนโยบายการคลัง นอกจากนี้ กรรมการเฟดยังได้แสดงความกังวลว่า ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอาจจะมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก"
"ทั้งนี้ กรรมการเฟดจึงได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% สู่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินวันที่ 15 มี.ค. และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเฟดมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา" รายงานการประชุมเฟดระบุ
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมี.ค., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.พ. และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.