ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (9 เม.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐพุ่งเกินคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.48 เยน จากระดับ 108.81 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9668 ฟรังก์ จากระดับ 0.9712 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4020 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4039 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0923 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0861 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2445 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2392 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6318 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6235 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากเฟดประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฟดจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีพนักงานไม่เกิน 10,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่งสินเชื่อดังกล่าวจะมีวงเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 25 ล้านดอลลาร์
เฟดระบุว่าโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมีวงเงินรวม 6.50 แสนล้านดอลลาร์ โดยนอกจากการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจแล้ว มาตรการของเฟดยังรวมถึงโครงการประกันรายได้ของพนักงาน และมาตรการอื่นๆด้วย
นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.25 ล้านราย โดยการพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ลดลง 0.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดิ่งลง 0.6% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2558 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งลดลง 0.7% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากลดลง 0.6% ในเดือนม.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผยในวันนี้คือ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค. โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในเวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย