ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและฟรังก์สวิส ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 เม.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงตัวเลขชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานพุ่งขึ้นเกินคาด และยอดขายบ้านใหม่ที่ทรุดตัวลงหนักสุดในรอบกว่า 6 ปี เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9761 ฟรังก์ จากระดับ 0.9721 ฟรังก์ แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.60 เยน จากระดับ 107.71 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4047 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4185 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0785 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0820 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2354 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2315 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6385 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6321 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์ปรับตัวผันผวนเมื่อคืนนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาหลายรายการ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 4.4 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3 ล้านราย โดยการพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 15.4% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2556 สู่ระดับ 627,000 ยูนิต และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 645,000 ยูนิต หลังจากแตะระดับ 741,000 ยูนิตในเดือนก.พ.
นอกจากนี้ เอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ทรุดตัวลงสู่ระดับ 27.4 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 40.9 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยถูกกดดันจากการที่กิจกรรมในภาคธุรกิจหยุดชะงักลง ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน