ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อสกุลเงินซึ่งมีสินทรัพย์เสี่ยง เช่นยูโรและเงินปอนด์ หลังจากยุโรปและสหรัฐเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนทำการปรับพอร์ทในช่วงสิ้นเดือน
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.85 เยน จากระดับ 107.24 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9740 ฟรังก์ จากระดับ 0.9755 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3986 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4039 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0835 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0832 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2433 ดอลลร์ จากระดับ 1.2422 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6499 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6465 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนยังคงลดการถือครองดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากยุโรปและสหรัฐเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยอิตาลีจะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 4 พ.ค. เพื่อเริ่มเปิดเศรษฐกิจและให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้ง
ขณะที่รัฐนิวยอร์กจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยจะมีการเปิดภาคการก่อสร้างและการผลิตในเฟสแรก ส่วนเฟสสองจะมีการประเมินธุรกิจเป็นรายกรณี ทางด้านรัฐอลาสกา, จอร์เจีย, เซาธ์ แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส ก็ได้เริ่มให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้า
นอกจากนี้ การปรับพอร์ทในช่วงปลายเดือนของนักลงทุนก็เป็นปัจจัยลบต่อดอลลาร์ โดยมีแนวโน้มที่นักลงทุนจะขายดอลลาร์เพื่อซื้อยูโร ปอนด์ เยน และดอลลาร์ออสเตรเลีย
นักลงทุนจับตาผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 29 เม.ย.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.ตามเวลาไทย โดยคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงิน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 86.9 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 118.8 ในเดือนมี.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 87.9
ขณะที่ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ ระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 4.2% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนม.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563 (ประมาณการเบื้องต้น), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนเม.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมี.ค.