ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 เม.ย.) หลังจากที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัว
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.59 เยน จากระดับ 106.85 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3898 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3986 ดอลลาร์แคนาดา แต่หากเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.9755 ฟรังก์ จากระดับ 0.9740 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0870 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0835 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.2450 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2433 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6540 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6499 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% ในการประชุมเมื่อวานนี้ และยืนยันว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้น และเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
เฟดระบุว่าจะยังคงจับตาสถานการณ์ในขณะนี้ และให้คำมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ในการสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อให้มีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา
แถลงการณ์ของเฟดระบุว่า "การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจและต่อสุขภาพทั่วสหรัฐและทั่วโลก โดยไวรัสและมาตรการที่ออกมาเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนกำลังทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก และทำให้การว่างงานพุ่งขึ้น ขณะที่อุปสงค์ที่อ่อนแอ และราคาน้ำมันที่ดิ่งลงได้กดดันเงินเฟ้อ ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักในสหรัฐและในต่างประเทศก็ได้ส่งผลกระทบต่อภาวะทางการเงิน และสกัดกระแสสินเชื่อที่ไปยังครัวเรือนและธุรกิจของสหรัฐ ขณะที่วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขจะกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อในระยะใกล้ และสร้างความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง"
ขณะเดียวกัน เฟดระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในปริมาณที่มีความจำเป็นต่อไปเพื่อสนับสนุนการทำงานของตลาด หลังจากที่เฟดได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยไม่จำกัดวงเงิน และไม่จำกัดเวลา ซึ่งถือเป็นการดำเนินการแทรกแซงตลาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เฟดเคยดำเนินการมา
นอกจากนี้ เฟดจะยังคงเสนอเงินกู้ข้ามคืนจำนวนมาก และดำเนินการซื้อคืนพันธบัตรเพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาด
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 4.8% ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะหดตัว 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทางด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ดิ่งลง 20.8% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมี.ค., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนเม.ย., ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนมี.ค.