สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีขีดเส้นตายเป็นเวลา 3 เดือนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ชี้แจงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินบางสกุล โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่ปรับตัวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0851 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0907 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2450 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2441 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.6457 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6425 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9717 ฟรังก์ จากระดับ 0.9654 ฟรังก์ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.49 เยน จากระดับ 106.72 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4025 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4078 ดอลลาร์แคนาดา
สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีคำตัดสินเมื่อวานนี้ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะต้องชี้แจงภายในเวลา 3 เดือนว่า มาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ ECB ดำเนินการภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Program (PSPP) ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและการคลัง มิฉะนั้น บุนเดสแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมนี จะถูกสั่งห้ามในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ PSPP เป็นโครงการของ ECB ซึ่งเปิดตัวในปี 2558 ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกและมีการซื้อขายในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งเสริมการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในยูโรโซน
PSPP เทียบเท่ากับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากกว่า
โดย ณ เดือนพ.ย.2562 ECB ได้ซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ PSPP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านยูโร
ส่วนสกุลเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขภาคบริการของสหรัฐที่ปรับตัวดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐเผชิญภาวะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ทศวรรษ โดยถูกกดดันจากการที่กิจกรรมในภาคธุรกิจหยุดชะงักลง ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่
ทั้งนี้ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 41.8 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 52.5 ในเดือนมี.ค. แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 40.0
ดัชนีภาคบริการของสหรัฐร่วงลงต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนเม.ย. ซึ่งบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคบริการ หลังจากมีการขยายตัวติดต่อกัน 122 เดือน
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมี.ค.