สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) หลังจากมีรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีขีดเส้นตายเป็นเวลา 3 เดือนให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ชี้แจงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0803 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0851 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2344 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2450 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6415 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6457 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9749 ฟรังก์ จากระดับ 0.9717 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.4121 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.4025 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.07 เยน จากระดับ 106.49 เยน
ยูโรร่วงลงจากรายงานข่าวที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีคำตัดสินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ECB จะต้องชี้แจงภายในเวลา 3 เดือนว่า มาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ ECB ดำเนินการภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Program (PSPP) ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและการคลัง มิฉะนั้น บุนเดสแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมนี จะถูกสั่งห้ามในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
รายงานระบุว่า ณ เดือนพ.ย.2562 ECB ได้ซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ PSPP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านยูโร
ทั้งนี้ PSPP เป็นโครงการของ ECB ซึ่งเปิดตัวในปี 2558 ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกและมีการซื้อขายในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งเสริมการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในยูโรโซน
นอกจากนี้ สกุลเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังจากนายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า เศรษฐกิจของ EU จะหดตัว 7.4% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการทรุดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 1930 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 20,236,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นภาวะการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2545 แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 22,000,000 ตำแหน่ง หลังจากลดลง 149,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค.
การดิ่งลงของตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนเม.ย.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะดิ่งลง 21.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 16%