ดอลลาร์แข็งค่าเทียบเยน หลังสหรัฐเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรวันนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 8, 2020 23:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดอลลาร์แข็งค่าเทียบเยนในวันนี้ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้

ณ เวลา 23.19 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.28% สู่ระดับ 106.57 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.41% สู่ระดับ 115.58 เยน และดีดตัวขึ้น 0.13% สู่ระดับ 1.0850 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.21% สู่ระดับ 99.68

ดอลลาร์มีแนวโน้มพุ่งขึ้นในสัปดาห์นี้เมื่อเทียบยูโรในรอบกว่า 1 เดือน ขณะที่ยูโรถูกกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีคำตัดสินว่า ECB จะต้องชี้แจงภายในเวลา 3 เดือนว่า มาตรการซื้อสินทรัพย์ที่ ECB ดำเนินการภายใต้โครงการ Public Sector Purchase Program (PSPP) ไม่ได้ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและการคลัง มิฉะนั้น บุนเดสแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารกลางของเยอรมนี จะถูกสั่งห้ามในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

PSPP เป็นโครงการของ ECB ซึ่งเปิดตัวในปี 2558 ในการซื้อสินทรัพย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาล และหลักทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ออกและมีการซื้อขายในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ และส่งเสริมการบริโภค และการลงทุน รวมทั้งกระตุ้นเงินเฟ้อในยูโรโซน

PSPP เทียบเท่ากับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักลงทุนมากว่า

ณ เดือนพ.ย.2562 ECB ได้ซื้อสินทรัพย์ตามโครงการ PSPP คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านยูโร

อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีระบุว่า มาตรการช่วยเหลือทางการเงินในขณะนี้ของสหภาพยุโรป (EU) หรือ ECB ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ไม่ได้รับผลกระทบจากคำตัดสินในวันนี้

ทางด้านศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรปมีคำตัดสินในเดือนธ.ค.2561 ว่า โครงการ PSPP ไม่ได้ขัดแย้งต่อกฎหมายของ EU แต่อย่างใด และไม่ได้เกินเลยจากอำนาจที่ ECB ได้รับมอบหมาย รวมทั้งไม่ได้ละเมิดข้อห้ามในการให้การสนับสนุนทางการเงินต่องบประมาณของประเทศใดประเทศหนึ่ง

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย.ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 21.5 ล้านตำแหน่ง

ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ส่วนตัวเลขอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงเกิดวิกฤตการเงินในเดือนต.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 10%

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 16% ในเดือนเม.ย. หลังจากอยู่ที่ระดับ 4.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2560 ขณะที่แตะระดับ 3.5% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี

การทรุดตัวลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ จำนวนคนว่างงานในเดือนเม.ย.พุ่งสู่ระดับ 23.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15.9 ล้านรายเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ