ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) ขานรับรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.58 เยน จากระดับ 107.48 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9701 ฟรังก์ จากระดับ 0.9647 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3947 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3891 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0955 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0984 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2235 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2230 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6564 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6600 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจัยหนุนหลังจากไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 36.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 27.0 ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น อยู่ที่ 39.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 36.1 ในเดือนเม.ย. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น อยู่ที่ 36.9 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 26.7 ในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว โดยถูกกดดันจากการที่กิจกรรมในภาคธุรกิจหยุดชะงักลง ขณะที่รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่ รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2.44 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.40 ล้านราย และยังบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ชาวอเมริกันตกงานสูงถึง 38.6 ล้านรายนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.
ทางด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ร่วงลง 4.4% แตะระดับ 98.8 ในเดือนเม.ย. หลังจากดิ่งลง 6.7% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงหนักที่สุดในรอบ 60 ปีที่มีการรายงานตัวเลขดังกล่าว