สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) ขานรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟู เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาหลายรายการ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐที่หดตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1089 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0989 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2340 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2253 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6658 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6605 ดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.64 เยน จากระดับ 107.70 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9634 ฟรังก์ จากระดับ 0.9688 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3760 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3779 ดอลลาร์แคนาดา
สกุลเงินยูโรดีดตัวขึ้น ขานรับข้อเสนอของ EC ในการตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.265 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ กองทุนฟื้นฟูดังกล่าวประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโรสำหรับชาติสมาชิก EU
ส่วนดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาหลายรายการ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งย่ำแย่กว่าที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัวลง 4.8% โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
กระทรวงพาณิชย์ยังรายงานด้วยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ดิ่งลง 17.2% ในเดือนเม.ย. หลังจากร่วงลง 16.6% ในเดือนมี.ค.
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 2.1 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.05 ล้านราย
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเม.ย., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน