ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (1 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโร ท่ามกลางความหวังที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวขึ้นเมื่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.50% สู่ระดับ 97.8371 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.59 เยน จากระดับ 107.79 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3577 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3777 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 0.9617 ฟรังก์
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1132 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1102 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2493 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2327 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6798 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6664 ดอลลาร์สหรัฐ
นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางความหวังที่ว่า ผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวหลังจากนี้
ส่วนสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยผลสำรวจซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 43.1 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 41.5 ในเดือนเม.ย.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552 โดยดัชนีภาคการผลิตได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน
อย่างไรก็ดี ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 39.8 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 36.1 ในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยได้หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างลดลง 2.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2552 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากทรงตัวในเดือนมี.ค.
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนพ.ค.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนพ.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนเม.ย., ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 1/2563 และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.