สกุลเงินยูโรแข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เสนอจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐสูญเสียความน่าดึงดูดในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1237 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1171 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2587 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2541 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6930 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6887 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9619 ฟรังก์ จากระดับ 0.9621 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3485 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3515 ดอลลาร์แคนาดา แต่หากเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 108.93 เยน จากระดับ 108.71 เยน
สกุลเงินยูโรยังคงได้รับปัจจัยหนุนจากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ขณะที่ดอลลาร์สูญเสียความน่าดึงดูดในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จากการที่ประเทศต่างๆเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางของชาติต่างๆจะยังคงผ่อนคลายนโยบายเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 2.76 ล้านตำแหน่งในเดือนพ.ค. แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 8.75 ล้านตำแหน่ง และดีกว่าในเดือนเม.ย.ที่ตัวเลขจ้างงานทรุดตัวลง 19.6 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นภาวะการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 2545
ขณะที่ผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 45.4 ในเดือนพ.ค. ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 44.0 หลังจากดิ่งลงแตะ 41.8 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2552
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดุลการค้าเดือนเม.ย., ผลิตภาพ-ต้นทุนแรงงานต่อหน่วยไตรมาส 1/2563 และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5%
นอกจากนี้ นักลงทุนรอการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า โดยจับตามุมมองของเฟดต่อเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ย