ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งเทียบดอลล์ ขานรับ ECB ออกมาตรการกระตุ้นศก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 5, 2020 07:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 มิ.ย.) ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

ยูโรแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1347 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1237 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2612 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2587 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6937 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6930 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.12 เยน จากระดับ 108.93 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3505 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3485 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.9550 ฟรังก์ จากระดับ 0.9619 ฟรังก์

ยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจาก ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ และ ECB ได้ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการฉุกเฉินอีก 6 แสนล้านยูโร เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งวงเงินดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5 แสนล้านยูโร

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนพากันเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น จากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.877 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว โดยลดลงต่ำกว่าระดับ 2 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐได้ผ่านพ้นภาวะเลวร้ายที่สุดที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8 ล้านราย

ด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้นในเดือนเม.ย. โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สกัดการไหลเวียนของสินค้าและบริการในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกของสหรัฐดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐพุ่งขึ้น 16.7% สู่ระดับ 4.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.90 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าสินค้าลดลง 13.7% สู่ระดับ 2.007 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2553 และการส่งออกทรุดตัวลง 20.5% สู่ระดับ 1.513 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2553

นักลงทุนจับตากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะลดลง 8.33 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ