ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (22 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในสหรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงด้วย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.6% สู่ระดับ 97.037 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9474 ฟรังก์ จากระดับ 0.9516 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3524 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3604 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 106.92 เยน จากระดับ 106.86 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1260 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1186 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2471 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2355 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6917 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6848 ดอลลาร์
นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดย Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 9,067,906 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 471,042 ราย โดยสหรัฐยังคงทำสถิติประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซายังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันสกุลเงินดอลลาร์ โดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองลดลง 9.7% สู่ระดับ 3.91 ล้านยูนิตในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเดือนที่สามติดต่อกัน อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ +2.61 ในเดือนพ.ค. จากระดับ -17.89 ในเดือนเม.ย. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัว
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค., ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากเฟดริชมอนด์, ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน