ยูโรและเงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (23 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างสหรัฐและจีนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% สู่ระดับ 96.6619 เมื่อคืนนี้
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1312 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1260 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2522 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2471 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 0.6936 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6917 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.47 เยน จากระดับ 106.92 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9444 ฟรังก์ จากระดับ 0.9474 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3540 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3524 ดอลลาร์แคนาดา
นักลงทุนเข้าซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นยูโรและปอนด์ หลังจากนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาว ได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ยุติ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ "The Story" ของสำนักข่าวฟ็อกซ์ นิวส์ ว่า ข้อตกลงดังกล่าวได้ยุติลงแล้ว ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐมีข้อมูลที่ทำให้เชื่อมั่นมากขึ้นว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่นของจีน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความยืนยันถ้อยแถลงของนายนาวาร์โร โดยกล่าวว่า ข้อตกลงการค้าเฟสแรกยังคงมีอยู่
"ข้อตกลงการค้ากับจีนยังคงดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบ ผมหวังว่าจีนจะยังคงเดินหน้าทำตามเงื่อนไขต่างๆ ในข้อตกลง" ทรัมป์ระบุในทวิตเตอร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดีดตัวขึ้น 16.6% ในเดือนพ.ค. ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% บ่งชี้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐเริ่มฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะที่ไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 46.8 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 37.0 ในเดือนพ.ค. โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดให้ธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนเม.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2563, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ค., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน