ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (29 มิ.ย.) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ขณะที่นักลงทุนปรับโพสิชั่นการลงทุนในช่วงท้ายไตรมาส
ดัชนีดอลลาร์ ดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.1% สู่ระดับ 97.55 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนราว 0.45% แตะที่ระดับ 107.69 เยน ขณะที่สกุลเงินยูโรแข็งค่าขึ้นราว 0.11% แตะที่ระดับ 1.1229 ดอลลาร์ ส่วนเงินปอนด์อ่อนค่าลงราว 0.41% แตะที่ระดับ 1.2283 ดอลลาร์
นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 10,270,357 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 504,942 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (2,637,180) รองลงมาคือบราซิล (1,345,254), รัสเซีย (641,156), อินเดีย (549,986), สหราชอาณาจักร (311,151) และสเปน (295,850)
นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (128,438) ตามมาด้วยบราซิล (57,658), สหราชอาณาจักร (43,550), อิตาลี (34,738) และฝรั่งเศส (29,778)
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 44.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ NAR เริ่มทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนม.ค.2544 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 15%
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตรัฐเท็กซัสพุ่งขึ้นสู่ระดับ 13.6 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ -28.0 ในเดือนพ.ค. โดยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนมิ.ย. หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ราคาบ้านเดือนเม.ย.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เขตชิคาโกเดือนมิ.ย., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.จาก Conference Board, ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมิ.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคการผลิตเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนพ.ค., คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, อัตราว่างงานเดือนมิ.ย., ดุลการค้าเดือนพ.ค., ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมิ.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ค.