ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของโรคโควิด-19 ในสหรัฐและประเทศอื่นๆ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.06% สู่ระดับ 97.2696 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.55 เยน จากระดับ 107.49 เยน แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9457 ฟรังก์ จากระดับ 0.9464 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3578 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3587 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1234 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1244 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2463 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2466 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6922 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6913 ดอลลาร์
นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 10,834,159 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 519,582 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (2,780,152) รองลงมาคือบราซิล (1,453,369) รัสเซีย (661,165) อินเดีย (606,907) สหราชอาณาจักร (313,483) และสเปน (296,739)
นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (130,798) ตามมาด้วยบราซิล (60,713) สหราชอาณาจักร (43,906) อิตาลี (34,788) และฝรั่งเศส (29,861)
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเดือนมิ.ย.ของสหรัฐ ลดลงสู่ระดับ 11.1% จากระดับ 13.3% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการลดลงเดือนที่สองติดต่อกัน ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 12.3%
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.43 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.35 ล้านราย
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.7% ในเดือนพ.ค. สู่ระดับ 5.46 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2561 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.31 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวขึ้น 8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสามเดือน แต่ยังน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 8.9%
*ตลาดเงินนิวยอร์กจะปิดทำการซื้อขายในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ*