ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ยูโรแข็งเทียบดอลล์ ขานรับยอดค้าปลีกยูโรโซนพุ่งเกินคาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 7, 2020 07:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลารสหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) ขานรับรายงานยอดค้าปลีกของยูโรโซนที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดในเดือนพ.ค. หลังจากรัฐบาลในหลายประเทศของยุโรปเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1314 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1244 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2498 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2476 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6975 ดอลลาร์ จากระดับ 0.6942 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 107.28 เยน จากระดับ 107.47 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9413 ฟรังก์ จากระดับ 0.9448 ฟรังก์ แต่หากเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3541 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3553 ดอลลาร์แคนาดา

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.46% สู่ระดับ 96.7291 เมื่อคืนนี้

สกุลเงินยูโรได้รับแรงหนุน หลังจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือนพ.ค. ปรับตัวขึ้น 17.8% จากระดับของเดือนเม.ย. ทำสถิติดีดตัวในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกยอดค้าปลีกตั้งแต่ปี 2542 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่า ยอดค้าปลีกจะขยายตัว 15% ในเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งของดัชนีภาคบริการสหรัฐยังทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง เช่นสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ซึ่งระบุว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 57.1 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 45.4 ในเดือนพ.ค. โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่หลายรัฐเริ่มกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่ต้องล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

รายงานดัชนีภาคบริการของสถาบัน ISM ออกมาสอดคล้องกับรายงานของไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งระบุว่า ดัชนีPMIภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนมิ.ย.ของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.9 จากระดับ 37.5 ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าตัวเลขขั้นต้นเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 46.7

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนพ.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ